มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือในชุมชนและท้องถิ่นที่สนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจทางการเงินและความยั่งยืนทางสังคมผ่านองค์ความรู้ของบุคลากรมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรและอาหาร เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและส่งต่อความรู้ด้านการเกษตรและอาหารเพื่อให้เกิดความยั่งยืนแก่ชุมชน ผนวกกับการเสริมทักษะและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อถ่ายทอดแก่เกษตรในชุมชนท้องถิ่นเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพและเพิ่มรายได้ ขจัดความยากจน
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ภายใต้การนำของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร สัตวศาสตร์ และอาหารที่มีการประยุกต์เอาองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญไปถ่ายทอดให้เกษตรกรในชุมชนสามารถลดรายได้ เพิ่มรายได้และต่อยอดเพื่อประกอบธุรกิจในอนาคตได้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะฯ ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากโดยมีพื้นที่ดูแลในสองจังหวัดคือ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้จัดทำยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ทั้ง 38 แห่ง โดยน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน และใช้หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลเดชบรมนาถบิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนิน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ของประชาชน แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ของประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชการที่ 10 ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะสานต่อโครงการในพระราชดาริของพระบิดา เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามรับผิดชอบ 2 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้คนในชุมชนฐานรากตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนสามารถบริหารจัดการชีวิตตนเองได้อย่างสมดุลและมีความเหมาะสม สามารถดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นแหล่งให้ความรู้และเป็นที่พึ่งทางวิชาการ มีบุคลากรที่มีศักยภาพในการให้บริการแก่ชุมชนที่พร้อมจะขับเคลื่อน พัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ตำบลดินทอง, ตำบลหนองพระ และตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และพื้นที่ตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง, ตำบลหนองอ้อ และตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยในแต่ละโครงการจะมีการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาทิเช่น การส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงกบ การเพาะเห็ด รวมไปถึงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรลดรายจ่ายภายในครัวเรือนอย่างน้อยร้อยละ 30 และมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตและแปรรูปทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากชุมชนและมีโอกาสส่งเสริมทางด้านการตลาดออนไลน์ ได้มีการให้ความรู้ คำแนะนำและอบรมเพื่อให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ออกจัดจำหน่ายในแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่งด้วย
ที่มา: คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง: SPMS PSRU , โครงการที่ 2 พัฒนาคุณภาพชีวิตฯ