มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือในชุมชนและท้องถิ่นที่สนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจทางการเงินและความยั่งยืนทางสังคมผ่านองค์ความรู้ของบุคลากรมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรและอาหาร เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและส่งต่อความรู้ด้านการเกษตรและอาหารเพื่อให้เกิดความยั่งยืนแก่ชุมชน ผนวกกับการเสริมทักษะและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อถ่ายทอดแก่เกษตรในชุมชนท้องถิ่นเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพและเพิ่มรายได้ ขจัดความยากจน
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ภายใต้การนำของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร สัตวศาสตร์ และอาหารที่มีการประยุกต์เอาองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญไปถ่ายทอดให้เกษตรกรในชุมชนสามารถลดรายได้ เพิ่มรายได้และต่อยอดเพื่อประกอบธุรกิจในอนาคตได้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะฯ ได้ดำเนินการในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัยในพื้นที่ 5 พื้นที่ด้วยกัน อันได้แก่
- ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์
- ตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์
- ตำบลท่าตาล อำเภอบางกระทุ่ม
- ตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม
- ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม
โดยได้ดำเนินการโครงการในรูปแบบการให้คำปรึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ตามศักยภาพของชุมชน รวมทั้งมีการจัดซื้อวัตถุดิบในชุมชนเพื่อนำมาแปรรูปหรือสร้างนวัตกรรมขึ้นใหม่ เพื่อให้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้ได้เกิดการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านการเกษตร อาหาร รวมไปถึงการคัดแยกขยะ การบริหารจัดการขยะในชุมชน และมีการถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างสัมมาชีพในชุมชนอีกด้วย จากผลการดำเนินงาน เกิดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
ผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจ
พื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 รวมถึงเกิดการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เช่น อย่างตำบลโคกสลุดที่เกิดปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยนร้อยละ 17.50 ต่อตำบลโดยจำแนกเป็นด้านที่เกษตรกรได้รับการส่งเสริมการทำเกษตรเพาะปลูกผักแบบปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน GAP จึงทำให้สามารถมีผลผลิตผักที่ได้มาตรฐานปริมาณ 150 กิโลกรัมต่อเดือน หรือกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปน้ำพริกโคกสลุดสามารถผลิตน้ำพริกสมุนไพรได้ 100 กระปุกต่อเดือน หรือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวน 6 ราย สามารถเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดและจัดจำหน่ายได้ 1,500 ตัว นอกจากนี้ในแง่ของการบริหารจัดการขยะ ผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 10 ราย สามารถสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะและนวัตกรรม Eco bricks และสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 400 บาทต่อคนต่อเดือน
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากชุมชนและมีโอกาสส่งเสริมทางด้านการตลาดออนไลน์ ได้มีการให้ความรู้ คำแนะนำและอบรมเพื่อให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ออกจัดจำหน่ายในแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่งด้วย
ผลลัพธ์เชิงสังคม
นอกจากจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เรียนรู้แนวทางในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแล้ว ยังเกิดการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ ประชาชนมีการพัฒนาอาชีพในเรื่องของการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การทำเกษตรแบบปลอดภัย จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสามัคคีและให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน ตลอดจนเกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ในแง่ของสิ่งแวดล้อมในชุมชนจากกิจกรรมการบริหารจัดการขยะ ทำให้ชุมชนน่าอยู่ขึ้นอีกด้วย
ที่มา: คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง: โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG , กองนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม