สาระสำคัญการดำเนินงาน : จัดกิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญาการตีกลองยาว และกิจกรรมการปฏิบัติธรรมส่งเสริมคุณธรรมชุมชนบ้านลาดบัวขาว เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมกันสร้างสังคมให้อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งมีกิจกรรมที่ดำเนินการ ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 วางแผนดำเนินการ (กิจกรรมที่ 1 ประชุมวางแผน และติดตามการดำเนินโครงการ จัดประชุมระหว่างกลุ่มผู้ปฏิบัติงานและคนในชุมชนเพื่อวางแผนและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการเพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันและขอความร่วมมือในการลงปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน ผู้นำชมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จัดขึ้นวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ณ ศาลาเอนกประสงค์บ้านลาดบัวขาว
กิจกรรมที่ 2 สำรวจความต้องการของชุมชนบ้านลาดบัวขาวและสรุปความต้องการของชุมชน จัดการประชุมเพื่อรวมกลุ่มคนในชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐานของชุมชน รวมทั้งสำรวจความต้องการในการฟื้นฟูด้านศิลปวัฒนธรรมที่ชุมชนต้องการให้มีการฟื้นฟู อีกทั้งรวบรวมและวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อเป็นการจัดกิจกรรมต่อไป จัดขึ้นวันที่ 2 เมษายน ณ ศาลาเอนกประสงค์ บ้านลาดบัวขาว
กิจกรรมที่ 3 จัดกิจกรรมฟื้นฟู สืบสาน อนุรักษ์ และต่อยอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนต้อนแบบ การจัดกิจกรรมทำให้ผู้เข้าอบรมสามารถปฏิบัติเทคนิคการตีกลองยาวในบทเพลง 5 บทเพลง ได้แก่ เพลง สามบ่อม, จังหวะ 1 , จังหวะ 2 , จังหวะ 3 , จังหวะ 4 รวมถึงวิธีการนำการแสดงให้เหมะสมกับบทเพลง และพัฒนากลองยาวให้เป็นกลองยาวประยุกต์ให้เข้ากับดนตรีสากล ในบทเพลงเต้ยโขง
กิจกรรมที่ 4 จัดกิจกรรมฟื้นฟู สืบสาน อนุรักษ์ และต่อยอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนต้นแบบ (การอบรมเชิงปฏิบัติการทางนาฏศิลป์ การรำกลองยาว กลุ่มชาวบ้านในชุมชน) จากการที่ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม ได้สรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการรำประกอบการแสดงกลองยาวของชุมชนบ้านลาดบัวขาว ตำบลสมอแข จังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้ผู้รับผิดชอบโครงการได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล ที่ได้จากการถ่ายทอดจากประสบการณ์และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนาฏศิลป์การรำกลองยาว โดยองค์ความรู้นี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ ให้เหมาะกับสถานการณ์หรืองานที่กระทำอยู่เป็นความรู้ที่จะช่วยสืบสาน อนุรักษ์ และต่อยอดศิลปะและวัฒนธรรมให้เป็นสมบัติของแผ่นดินสืบต่อไป
องค์ความรู้ประกอบด้วย เพลง“รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา” ท่ารำเพลง “รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา” และการแต่งกายของนักแสดงเพลง“รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา” รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. เพลง“รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา”
จากการดำเนินกิจกรรมที่ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องดำเนินการต่อยอดการรำกลองยาวเดิมที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ที่ได้ดำเนินการไว้เดิมจากโครงการยุทธศาสตร์ในปีงบประมาณ 2563 ไว้แล้วนั้น ได้มีการพัฒนาต่อยอดในปีงบประมาณ 2564 เป็นการต่อยอดโดยเรียบเรียงเป็นเพลงกลองยาวประกอบการแสดงการรำกลองยาวขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้ในการแสดงเปิดวงการแสดงกลองยาวของชาวชุมชนลาดบัวขาว โดยมีการร้องเพลงประกอบและใช้ในการแสดงการรำกลองยาว 1 เพลง มีความยาว 4.6 นาที โดยมีการประพันธ์เพลง “รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา” เพื่อใช้ประกอบการแสดง รายละเอียดของเพลงประกอบด้วย
1) ชื่อเพลง “รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา
2) ผู้แต่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สลักจิต ตรีรณโอภาส
3) นักร้องชาย ว่าที่ร้อยตำรวจเอก บวรวิช ศรีปา
4) นักร้องหญิง นางสาวสุภาภัค พูนดังหวัง
5) ความหมายของเนื้อเพลง “รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา”เป็นเพลงที่มีเนื้อหาและ
ท่วงทำนองสนุกสนาน มีความหมายเกี่ยวกับความรักความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียวในการดำเนินชีวิตตามวิถีของคนในชุมชน เหมาะกับการนำไปใช้ในการแสดงงานประเพณีต่างๆ เช่น งานสงกรานต์ หรืองานแห่แหน ซึ่งต้อง เดินเคลื่อนขบวน เช่น ในงานแห่นาค แห่พระ และแห่กฐิน เป็นต้น ผู้ชมในงานจะรู้สึกสนุกสนานและจะเข้าไปรำด้วยก็ได้ เพราะเป็นการเล่นอย่างชาวบ้าน เคลื่อนไปกับขบวน พอถึงที่ตรงไหนมีลานกว้างหรือเหมาะก็หยุดตั้งวงเล่นกันก่อนพักหนึ่งแล้วเคลื่อนไปต่อ
2. ท่ารำเพลง “รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา”
ท่ารำเพลง “รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา” ได้ประยุกต์จาก ท่ารำของการรำวงมาตรฐานของกรมศิลปากร และมีการประยุกต์ท่ารำจากนาฏยศัพท์ขั้นพื้นฐานง่ายๆ นำมาประยุกต์ออกแบบท่ารำที่เหมาะสมกับทุกเพศและทุกวัย ท่ารำง่ายๆไม่ยาก เน้นความสนุกสนานและความรักสามัคคีของชุมชนซึ่ง ประกอบด้วย 11 ท่ารำ ดังนี้
1) นาฏยลีลาท่าเดิน 2) ท่าแขกเต้าเข้ารัง 3) ท่าผาลาเพียงไหล่
4) ท่ารำยั่ว 5) ท่าพนมมืองานบุญ 6) ท่าเซิ้งสวยเซ็กซี่
7) ท่าพรหมสี่หน้า 8) ท่ายูงฟ้อนหาง 9) ท่าลาดบัวขาวรักชุมชน
10) ท่าลาดบัวขาวสามัคคี 11) ท่าภมรเคล้า
การแต่งกายของนักแสดงเพลง“รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา”
การแสดง“รำกลองยาวลาดบัวขาวหรรษา” เป็นการแสดงที่ไม่จำกัดจำนวน ผู้แสดงสามารถ แสดงได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง การแต่งกายของนักแสดง สามารถแต่งได้หลายรูปแบบ โดยเน้นเป็นการนุ่งผ้าแบบไทย อาจประยุกต์ปรับเปลี่ยนได้ตามโอกาสที่แสดง เช่น งานประเพณีสงกรานต์จะใส่เสื้อผ้าลายดอกที่มีสีสัน สดใส งานบุญงานบวช หรืองานประเพณีในชุมชนหรือท้องถิ่นใส่เสื้อลูกไม้ นุ่งโจงกระเบน หรือใส่ผ้าพื้นเมืองในแต่ละชุมชนที่มีก็ได้ แต่เพื่อแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านลาดบัวขาว จึงออกแบบให้ผู้แสดงแต่งกาย ดังนี้
1) นุ่งผ้าโจงกระเบนและเสื้อลูกไม้สีขาวห่มสไบแบบเปิดไหล่ 1 ด้าน(เปิดไหล่ด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ แต่ผู้แสดงทุกคนต้องเหมือนกัน) โดยกำหนดให้โจงกระเบนและสไบเป็นสีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำจังหวัดพิษณุโลก
2) เกล้าผมมวยทรงสูง ประดับด้วยดอกไม้ 2 ชนิด คือ
• ช่อดอกปีบ เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก
• ดอกบัวขาว เป็นดอกไม้ที่แสดงเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านลาดบัวขาว
3) เครื่องประดับ เครื่องประดับสำหรับผู้แสดง ประยุกต์จากเครื่องประดับนาฏศิลป์ทั่วไป ที่ประกอบด้วย ทับทรวง สร้อยสังวาลย์ ต่างหู และเข็มขัด ทั้งนี้อาจประยุกต์หรือปรับเปลี่ยนได้ตามโอกาสหรือประเพณีต่างๆที่แสดงในแต่ละงาน
กิจกรรมที่ 5 สำรวจความต้องการของชุมชนบ้านลาดบัวขาวและสรุปความต้องการของชุมชน ท่ารำประกอบจังหวะกลองยาว มี 5 ท่า รำท่าละ 8 ครั้ง ครั้งละ 4 จังหวะ โดยมีท่ารำดังนี้
1. ท่ารำยั่ว
คำอธิบายท่ารำ มือขวาตั้งวงล่าง มือซ้ายจีบส่งหลัง แล้วเปลี่ยนมือเป็นมือซ้ายตั้งวงล่าง มือขวาจีบส่งหลัง สลับกันเรื่อยไป จนครบ 8 ครั้ง
2. ท่าอาย
คำอธิบายท่ารำ มือขวาแตะแก้ม มือซ้ายเท้าสะเอว เดินหมุนรอบตัว ทิศทวนเข็ม นับ 4 จังหวะ ทั้งหมด 4 ครั้ง แล้วเปลี่ยนมือเป็นมือซ้ายแตะแก้ม มือขวาเท้าสะเอว เดินหมุนกลับ ทิศตามเข็มนาฬิกา นับ 4 จังหวะ อีก 4 ครั้ง
3. ท่าภมรเคล้า
คำอธิบายท่ารำ มือขวาตั้งวงบน มือซ้ายจีบเข้าหาตัว ซ้อนหลังมือขวา แล้วเปลี่ยนมือมาฝั่งซ้าย โดยกรายมือซ้ายมาตั้งวงบน ส่วนมือขวา ม้วนจีบเข้าหาตัว ซ้อนหลังมือซ้าย ทำสลับข้างกัน เรื่อยไป จนครบ 8 ครั้ง
4. ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง
คำอธิบายท่ารำ มือซ้ายตั้งวงบน มือขวาจีบหงายที่ระดับชายพก แล้วเปลี่ยนมือโดยเลื่อนมือขวาขึ้นไปตั้งวงบน ขณะเดียวกัน ให้เลื่อนมือซ้ายลงมาจีบหงายที่ชายพก ทำสลับกันเรื่อยไป จนครบ 8 ครั้ง
5. ท่าสาวจีบ
คำอธิบายท่ารำ มือขวาจีบคว่ำที่ระดับชายพก มือซ้ายทำวงหงาย งอแขนระดับเอว แล้วเปลี่ยนข้างเป็นมือซ้ายจีบคว่ำที่ระดับชายพก มือขวาทำวงหงาย งอแขนระดับเอว ทำสลับกันเรื่อยไป จนครบ 8 ครั้ง
ที่มา : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง : https://aco.psru.ac.th/hotnews3.php?id=933