นักสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพหนึ่งที่ทำหน้าที่กับคนกลุ่มเปราะบางในสังคม ผู้คนที่เผชิญผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านวิธีการทำงานที่หลากหลายตั้งแต่ระดับบุคคล กลุ่ม ชุมชน และนโยบาย ทั้งนี้ รายวิชาSW241 หลักและวิธีการทางสังคมสงเคราะห์ 1 เป็นรายวิชาที่ให้ความสำคัญกับสังคมสงเคราะห์ระดับบุคคลและกลุ่มซึ่งเป็นวิธีการทางสังคมสงเคราะห์ที่ถูกใช้อย่างมากในหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศ กล่าวคือนักสังคมสงเคราะห์ทุกคนจะต้องสามารถเป็นผู้จัดกิจกรรมสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน (Social Group Work) ได้ ซึ่งการที่จะพัฒนานักศึกษาให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องฝึกปฏิบัติจริง ตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม สำหรับประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาจัดเป็นโครงการในครั้งนี้คือประเด็นเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ (Unwanted Pregnancy) ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นรัฐสวัสดิการ พลเมืองมีความกินดีอยู่ดี (Well Being) การยุติการตั้งครรภ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่ในประเทศไทยนั้นการยุติการตั้งครรภ์ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายเว้นแต่บางกรณีได้แก่ปัญหาสุขภาพและการถูกข่มขืน อีกทั้งจากสถิติของสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัยระบุว่าหากเป็นในกรณีของนักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ พบว่าในปี พ.ศ. 2561 มีผู้หญิงกว่าร้อยละ 48.6 ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อออกมาเลี้ยงลูก ในขณะที่ร้อยละ 44 สามารถกลับไปเรียนได้ตามปกติ (สำนักอนามัยเจริญพันธุ์, ม.ป.ป.)ไม่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น. พ.ศ. 2559 อย่างไรก็ตามหากมองภาพรวม นักเรียนนักศึกษาเกือบครึ่งหนึ่งยังคงต้องออกจากระบบการศึกษา ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยระบบสวัสดิการที่ยังไม่พัฒนาทัดเทียมยุโรปตะวันตกและประเทศสแกนดิเนเวียน จึงนำมาซึ่งคำถามว่าแล้วสวัสดิภาพและความกินดีอยู่ดีของครอบครัวที่ต้องมีบุตรเพราะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์จะเป็นอย่างไร เด็กที่เกิดจากครอบครัวเงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศหรือไม่?
ดังนั้นในฐานะนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้การตัดสินใจนั้นเกิดขึ้นมาจากการพิจารณาที่รอบคอบ รวมทั้งต้องส่งเสริมความตระหนักในสิทธิของเพศหญิงผู้ที่มักถูกมองให้เป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพศชายให้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการแก้ไขปัญหาเช่นกัน
ฝ่ายวางแผนและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์และการพัฒนาท้องถิ่น
ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการ
1. นักศึกษาหลักสูตรสาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์สามารถออกแบ/บ และเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมสังคมสงเคราะห์กลุ่มชนร่วมกับวิทยากรได้อย่างน่าพึงพอใจ โดยคะแนนประเมินผลอยู่ที่ 7/10 คะแนน
2. สมาชิกกลุ่ม อันหมายถึงเด็กและเยาวชนที่สถานพินิจฯ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ สิทธิของเพศหญิง และทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ อีกทั้งยังให้ความร่วมมือกับวิทยากรรวมทั้งนักศึกษาในหลักสูตรเป็นอย่างดี