โครงการ / กิจกรรม ระดับหน่วยงาน ตามเป้าหมาย SDG (การพัฒนาที่ยั่งยืน)
สรุปสาระสำคัญการดำเนินงาน : เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีการดำเนินการ ดังนี้
พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก ศูนย์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ภายใต้การดูแลของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จัดอยู่ในประเภทพิพิธภัณฑสถานของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา (University Museum) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สามารถค้นคว้า หาความรู้ได้นอกเหนือจากในห้องเรียนหรือการศึกษาในตำราทั่วไป ประกอบกับปรัชญาการศึกษาสมัยปัจจุบันไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงการฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว แต่ได้เน้นในด้านการใช้วิจารณญาณและการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ดังนั้น พิพิธภัณฑ์จึงเป็นแหล่งค้นคว้าของนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งประชาชนภายนอกเข้าศึกษาหาความรู้ได้ด้วย ซึ่งรูปแบบการจัดแสดงจัดแสดงข้อมูลภายในพิพิธภัณฑ์เมืองพิษณุโลกและศูนย์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เป็นนิทรรศการที่นำเสนอข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยวและเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดตาก จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดสุโขทัย ตัวอย่างเช่น
1. ห้องแนะนำจังหวัด นำเสนอข้อมูลของจังหวัดพิษณุโลก โดยรวมทั้งข้อมูลพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ชาติพันธุ์ สถานที่สำคัญ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญพร้อมแบบจำลองบริเวณเมืองพิษณุโลกกำแพงเมืองเก่า โบราณสถานและวิดีทัศน์ ประกอบข้อมูล
2. ห้องปฐมสมัยสุโขทัย ประวัติเมืองพิษณุโลก (สองแคว) ในสมัยสุโขทัยครั้งพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ก่อสร้างเมือง จนถึงสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ได้เสด็จมาครองเมืองพิษณุโลก เป็นเวลา 7 ปี ในสมัยนี้มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมและการศาสนาเป็นอย่างมาก
3. ห้องใต้เงาอยุธยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมืองพิษณุโลกมีบทบาทสำคัญหลายสถานะทั้งดำรงฐานะเป็นเมืองราชธานีของกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถยาวนานถึง 25 ปีและเป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถและพระสุพรรณกัลยา อีกทั้งเป็นเมืองหน้าด่านที่ตั้งทัพรบศึกพม่าอย่างกล้าหาญ ในคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310
4. ห้องร่มบารมีมหาจักรีวงศ์ หลังจากกองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้กอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมืองพิษณุโลกได้กลับคืนฟื้นเป็นเมืองอีกครั้ง ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สถาปนาราชวงศ์จักรีแล้ว ก็ได้โปรดฯให้ฟื้นฟูเมืองพิษณุโลกขึ้นใหม่ภายหลังจากเสร็จศึกสงครามกับพม่าในคราวสงครามเก้าทัพ เมืองพิษณุโลกจึงได้เจริญเติบโตและเป็นปึกแผ่นอย่างมั่นคงมาจนตลอดสมัยได้ร่มฉัตรราชวงศ์จักรีตราบจนรัชกาลปัจจุบัน
5. ห้องเอกลักษณ์เมืองพิษณุโลก 1 แสดงเอกลักษณ์ของเมืองพิษณุโลก ด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรี การละเล่น สถาปัตยกรรม เช่น สถาปัตยกรรมวัดจุฬามณีการแสดงดนตรีมังคละ โดยจัดแสดงเครื่องดนตรีและวิดีทัศน์เกี่ยวกับดนตรีมังคละการฟ้อนรำ
6. ห้องเอกลักษณ์เมืองพิษณุโลก 2 แสดงเอกลักษณ์เมืองพิษณุโลกด้านประเพณี ความเชื่อและของดีของเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักและเชิดหน้าชูตาของจังหวัด อาทิ พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พระเครื่องที่สำคัญของพิษณุโลก ประเพณีปักธงชัย ประเพณีการแข่งเรือยาว ไก่ชนสมเด็จพระนเรศวรและสุนัขบางแก้ว เป็นต้น
ศูนย์การเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง 1
1. จังหวัดตาก เมืองตากเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือตอนล่างมีชื่อเดิมว่า“เมืองระแหง”ในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตากเมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้วเมืองตากมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านฝั่งตะวันตก และยังเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหาราชในอดีตถึง 4 พระองค์ที่เสด็จมาชุมนุมกองทัพ ณ ดินแดนเมืองตากแห่งนี้ ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวา ของแม่น้ำปิงมายังฝั่งซ้ายบริเวณตำบลบ้านระแหงจนกระทั่งทุกวันนี้
2. จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองใหญ่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มากมีไปด้วยแหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติของสายน้ำและป่าเขาที่สวยงามน่าท่องเที่ยว อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 377 กิโลเมตรจังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่ประมาณ 10,815 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบสลับป่าไม้ทางด้านตะวันออก นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่มอยู่โดยทั่วไป มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำน่านซึ่งไหลผ่านบริเวณตัวเมือง แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอวังทอง อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางระกำ อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอนครไทย อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอชาติตระการ และอำเภอเนินมะปราง
3. จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างแวดล้อมไปด้วยพื้นที่ป่าเขาเขียวขจี ภูมิประเทศมีทัศนียภาพสวยงามไม่ว่าจะเป็นเขาค้อหรืออุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจคือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพซึ่งได้รับรางวัล Thailand Tourism Award ประจำปี 2543 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานยอดเยี่ยม รวมไปถึงอาหารขึ้นชื่ออย่างไก่ย่างวิเชียรบุรี ขนมจีนหล่มเก่าและผลไม้ยอดนิยมของจังหวัด คือ มะขามหวานเมืองเพชรและลูกเสาวรส
4. จังหวัดสุโขทัย สุโขทัย ในอดีตเคยเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย เมื่อ 700 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งในเขตภาคเหนือตอนล่าง คำว่า สุโขทัย มาจากคำสองคำคือ สุข+อุทัย หมายความว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข สุโขทัยได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ. ศ. 1800 มีการสถาปนาราชวงศ์พระร่วงขึ้นปกครองสุโขทัย โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นปฐมกษัตริย์ ตลอดระยะเวลา 120 ปี ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ ที่สำคัญคือ “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย และวางรากฐานการเมือง การปกครอง ศาสนา ตลอดจนขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง และด้วยความสำคัญในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของไทยในสมัยเริ่มสร้างอาณาจักรที่ยังหลงเหลืออยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้รับการยกย่องให้เป็น มรดกโลก โดยองค์การ UNESCO เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534
5. จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง เมืองแห่งพระแท่นศิลาอาสน์ ตำนานอันลึกลับของเมืองลับแล ดินแดนแห่งลางสาดหวานหอม และบ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหัก ขุนศึกคู่บารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
จากบริบทข้างต้น สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้มีการขับเคลื่อนงานโดยมีเป้าหมายหลักในการเสริมสร้างแหล่งเรียนรู้ และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนด้วยมิติวัฒนธรรม โดยระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม คุณธรรมจริยธรรมตามหลักของพุทธศาสนา การเกิดจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นตน นำมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป
ที่มา : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
5. รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง : https://aco.psru.ac.th/infomuseum2.php?cc=15044479111709032111519