มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 – 31 ธันวาคม 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมหาวิทยาลัยเป็น System Integrator ให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน การจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน และการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 15 ตำบล จากจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 9 ตำบล และจังหวัดสุโขทัย จำนวน 6 ตำบล ได้แก่
1. เทศบาลตำบลพลายชุมพล ตำบลพลายชุมพล อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
2. องค์การบริหารส่วนตำบลจอมทอง ตำบลจอมทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
3. องค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง ตำบลดอนทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
4. องค์การบริหารส่วนตำบลทองแท้ ตำบลท้อแท้ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก
5. องค์การบริหารส่วนตำบลคันโช้ง ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก
6. องค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม ตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก
7. องค์การบริหารส่วนตำบลนครป่าหมาก ตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
8. องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุด ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
9. องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตาล ตำบลท่าตาล อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
10. เทศบาลตำบลกลางดง ตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย
11. องค์การบริหารส่วนตำบลวังไม้ขอน ตำบลวังไม้ขอน อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
12. องค์การบริหารส่วนตำบลดงคู่ ตำบลดงดู่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
13. เทศบาลเมืองศรีสัชนาลัย ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
14. องค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจง ตำบลคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
15. องค์การบริหารส่วนตำบลไทยชนะศึก ตำบลไทยชนะศึก อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย
ซึ่งได้จัดทำบันทึกข้อตกลงโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 15 ตำบล โดยมีเนื้อหาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามดำเนินการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่(ไม่เกิน 3 ปี) 10 คน/ตำบล นักศึกษา 5 คน/ตำบล และประชาชนทั่วไป 5 คน/ตำบล รวมทั้งสิ้น 20 คน/ตำบล โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมให้การประชาสัมพันธ์โครงการ และคัดเลือกผู้รับจ้างงานภายในตำบล รวมถึงร่วมกันวางแผนการดำเนินโครงการ/กิจกรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลให้ตรงต่อความต้องการของแต่ละตำบล การสำรวจและจัดกิจกรรมตาม 16 เป้าหมายในการเอาชนะความยากจนของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี และการดำเนินการตามตัวชี้วัดระดับตำบล 14 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดระดับมหาวิทยาลัย 14 ตัวชี้วัด ร่วมกันประเมินและวิเคราะห์ศักยภาพตำบลและสภาพปัญหาของตำบลจากข้อมูลต่างๆ เช่น TPMAP AGRIMAP และข้อมูลแผนที่ดาวเทียม (GRISTDA) เพื่อวางแผนกิจกรรมการพัฒนาตำบลในการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกันกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ เช่น กลุ่มสังคม องค์กรชุมชน (กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพ สถาบันการเงินชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น) กลุ่มเปราะบาง และผู้สูงอายุ ร่วมทั้งหน่วยงานภาครัฐ กาคเอกชน (สมาคม สภาอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน) เพื่อบูรณาการการพัฒนาร่วมกัน
โดยการจัดกิจกรรมพัฒนาตำบลในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัสดุ หรือวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น หรือต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมจากในท้องถิ่น เพื่อที่จะเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ตามคู่มือแนวทางการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) โดยระบุแนวทางการบริหารโครงการให้ดำเนินโครงการ/กิจกรรมตามรูปแบบกิจกรรมที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ 4 ประเภท ดังนี้
1. การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ (การยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่นๆ)
2. การสร้างและพัฒนา Creative Economy (ยกระดับการท่องเที่ยว)
3. การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/เทคโนโลยีด้านต่างๆ)
4. การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy (การเพิ่มรายได้หมุนเวียนแก่ชุมชน)
ซึ่งทุกตำบลต้องมีการสำรวจข้อมูลการเชื่อมโยงตัวชี้วัด 14 ข้อ เพื่อนำมาใช้วางแผนการจัดกิจกรรมภายในตำบล ได้แก่ 1. การประเมินหลักงาน 16 เป้าหมาย ของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี 2. ประชากรเป้าหมาย 3. ผู้ที่เป็นผู้ปฏิบัติการหลัก (Key actors) และผู้ขับเคลื่อนปฏิบัติการในพื้นที่ 4. เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ใช้ได้ผลดี 5. นวัตกรรมการแก้ปัญหา (เชิงระบบ เชิงกระบวนการ เชิงเทคนิค) 6. การมีส่วนร่วมของประชากรกลุ่มเป้าหมายและ 4 องค์กรหลักในตำบล (อปท. ท้องที่ องค์กรชุมชน หน่วยงานรัฐ และเอกชน) 7. ผลการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของกลุ่มประชากรเป้าหมาย 8. เรื่องเด่น (กิจกรรม บริการ ผลิตภัณฑ์ ผลผลิต) 9. คนเด่น (Champions) 10. ข้อมูล (การสำรวจการเฝ้าระวัง COVID-19 และ Community Data) 11. การส่งเสริมการสร้างธุรกิจใหม่ (Start-up / Social Enterprise) 12. รูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนในระดับตำบลจากการสรุปบทเรียนและประสบการณ์ในโครงการ 13. รูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลและองค์กรภายในตำบลเพื่อแก้ปัญหาความยากจน (Resource Mobilization) จากโครงการนี้ 14. แหล่งเรียนรู้ และหลักสูตรการเรียนรู้ของชุมชนที่มาจากเรื่องเด่น คนเด่น จนได้รับการยอมรับเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการแก้ปัญหาความยากจน แล้วรายงานผลการประเมินในระบบ Project Based Manager (PBM) http://otou-tracker.mhesi.go.th/projects ทั้งระยะก่อนเริ่มโครงการ ไตรมาสที่ 1 – 4 และระยะสิ้นสุดโครงการ
เมื่อสิ้นสุดโครงการได้มีการจัดนิทรรศการ “การดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ทั้งในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย” เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ในชุมชนและมีการถ่ายทอดสดการแนะนำผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ได้นำมาจัดแสดง มาจากงานวิจัย งานบริการวิชาการที่มหาวิทยาลัยได้ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และยกระดับผลิตภัณฑ์ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในตำบล อาทิเช่น ไข่เค็มสมุนไพร น้ำตาลมะพร้าว ขนมเปียกปูน ลูกประคบสมุนไพร ยาดมสมุนไพร แคบหมูไร้มัน น้ำพริกไข่เค็ม น้ำตาลสด พริกทอด เห็ดฟางในตะกร้า และน้ำพริกแกง กล้วยกวน ผ้ายกดอกท่าชัย ผ้ายกดอกเครือวัลย์ ไม้กวาดดอกหญ้า ตะกร้าสานจากเส้นพลาสติก กล้วยตากตกผา กาแฟคั่วมือ ชาดอกกาแฟ ผ้าทอ หัตถกรรมจักสาน บรรจุภัณฑ์จากใบตอง ชาปลีกล้วย กระดาษสา เห็ดฟางในตะกร้า และผ้ามัดย้อมจากดินพระร่วงเป็นต้น
ที่มา : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง : การถอดบทเรียนการดำเนินงาน โครงการ U2T พื้นที่จังหวัดสุโขทัย, การถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ U2T พื้นที่จังหวัดพิษณุโลก