มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภัยอันตรายที่อาจเกิดจากการสูบบุหรี่ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งควันบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลายชนิด เช่น บุคคลที่ได้รับควันบุหรี่ จากบุคคลอื่นที่สูบบุหรี่นั้นอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ จึงได้มีการดำเนินงานการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 เพื่อสร้างให้นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เข้ามาเยี่ยมมหาวิทยาลัย ให้เกิดความตระหนัก รู้เท่าทันถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ ทั้งต่อตัวผู้สูบบุหรี่เอง และต่อผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลอื่นที่สูบบุหรี่ ทั้งนี้เพื่อสร้างให้มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ต่อไปอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ให้เป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่
โดย งานกิจกรรมและพัฒนานักศึกษา กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พร้อมที่จะดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายและสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงาน โดยการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการสร้างกระแส สร้างค่านิยม ให้กับนักศึกษาและบุคลากร
กิจกรรมที่ 1 การอบรมให้ความรู้
การจัดอบรมเป็นการให้ความรู้แก่นักศึกษา และเป็นลักษณะการนั่งฟังการบรรยาย ในหัวข้อ “การใช้ทักษะชีวิตเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติด” มีการแบ่งกลุ่ม ให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น และการปลุกจิตสำนึกให้ มีความตระหนัก ถึงภัยอันตรายของสิ่งเสพติดทั้งหลายที่อาจจะแทรกซึมเข้ามาในช่วงชีวิตของนักศึกษา ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์รู้ซึ่งถึงภัยต่างๆของสิ่งเสพติดซึ่งอาจคิดว่าเราสามารถชนะมันได้ โดยเริ่มจากคิดเพียงแค่อยากลอง อยากรู้แต่แท้ที่จริงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นตกเป็นเหยื่อ เป็นทาสโดยไม่รู้ตัวทั้งนั้น และพบว่าทัศนคติของนักศึกษาที่มองว่าเหล้า บุหรี่เป็นเรื่องปกติ ผู้ใหญ่กินได้ เด็กก็กินได้ และสภาพแวดล้อมก็ไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้มันรุนแรง ละครทุกเรื่องมีสิ่งเสพติดหมด จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว อาจารย์/ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจรู้สึกว่ามันแรงแต่เด็กไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เด็กก็อยากจะเป็นผู้ใหญ่เร็ว ๆ เพื่อที่จะได้มีอิสระในการทำอะไรหลายๆอย่าง เด็กสมัยนี้ชอบความสุข สะดวก สบาย ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นในเรื่องสิ่งเสพติด
การจัดกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขึ้น โดยใช้กระบวนการที่หลากหลายมีการร่วมมือกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักศึกษา
เน้นพัฒนาตัวนักศึกษา ให้มีศักยภาพในการป้องกันตนเอง การสร้างจิตสำนึก ค่านิยม สุขนิสัยตลอดจนความสามารถในการรับมือ หรือจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างเหมาะสมโดยใช้
กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยดำเนินการ ดังนั้นจึงได้กำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันปัญหาสิ่งเสพติดในสถานศึกษา และชุมชน ทั้งหมด โดยมุ่งประโยชน์ที่จะเกิดกับ นักศึกษา
ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นแม่ข่าย วิทยากรจาก โครงการ TO BE NUMBER ONE จังหวัดพิษณุโลก และได้รับความร่วมมือจาก 8 คณะ กองพัฒนานักศึกษา ซึ่งเสมือนเป็นกำลังใจให้กับผู้ทำกิจกรรมมีแรงใจที่จะทำงานต่อไป และการทำงานในครั้งนี้มีความชัดเจนและเกิดผลมากกว่าเดิมเป็นลำดับบวกกับประสบการณ์จากการทำกิจกรรมในแต่ละครั้งจะมีการพัฒนาขึ้น
กิจกรรมที่ 2 : “ดื่มนม ชมดนตรี”
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
กิจกรรม “ดื่มนม ชมดนตรี” เป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนหันมาดื่มนม รักสุขภาพ ห่างไกลจาก เหล้าบุหรี่ และยาเสพติด อีกทั้งเป็นการยกย่องร้านนม ที่ปฏิบัติตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณเขตพื้นที่โซนนิ่ง ในสถานศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมร้านนมที่ปลอดภัย ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100 % สำหรับกิจกรรมประกอบไปด้วย การแสดงดนตรีสด จาก นักศึกษาสาขาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กิจกรรมเกมส์สร้างสรรค์ต่างๆ ที่สอดแทรกความรู้เรื่อง เหล้า และผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพที่มาจาก เหล้า นักศึกษาได้รับความรู้เรื่อง ผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย และนักศึกษาลด และ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันสอบของนักศึกษา นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญ และเห็นประโยชน์ของการ ลด เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การฟัง “ดนตรี” เป็นเครื่องเยียวยาใจที่ดีเยี่ยม ดนตรีก่อให้เกิดความสุข ความบันเทิงใจ มีงานวิจัยที่ระบุว่า ดนตรีกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ช่วยในเรื่องการหายใจ การคงอัตราการเต้นของหัวใจ ควบคุม ความดันโลหิต คลายความตึงของกล้ามเนื้อ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอารมรณ์ สติ และความนึกคิด ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น และให้นักศึกษาได้ออกมาใช้เวลาในช่วงเย็นเพื่อการพักผ่อน การได้ฟังบทเพลงที่ไพเราะ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นและสีเขียวของต้นไม้ในสวนสาธารณะ ยังช่วยบำบัดสุขภาพจิต สร้างความผ่อนคลายใจได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดโอกาสของการเป็นโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย และเพื่อที่นักศึกษาจะได้มีกำลังใจในการอ่านหนังสือเตรียมสอบ
การฟัง “ดนตรี” ดีต่อนักศึกษาอย่างไร
1. ดนตรีช่วยพัฒนาทางด้านร่างกาย
เราจะสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อเด็กได้ยินเสียงดนตรีที่มีทำนองและจังหวะที่สนุก เด็กก็จะกระโดดโลดเต้น เคลื่อนไหวร่างกาย ตามเสียงดนตรีอย่างมีความสุขสนุกสนาน ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กๆมีร่างกายแข็งแรงเพราะได้บริหารกล้ามเนื้อทุกส่วนร่างกาย เช่น แขน ขา นิ้วมือ คอ ไหล่
2. ดนตรีช่วยพัฒนาทางด้านอารมณ์และจิตใจ
อารมณ์ความรู้สึกของคน มีขึ้นมีลงคล้ายท่วงทำนองของเสียงดนตรี ดนตรีที่มีจังหวะช้าจะทำให้เด็กมีอารมณ์ผ่อนคลาย สงบ มีสมาธิ และช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ในขณะที่ดนตรีที่มีจังหวะเร็ว จะทำให้เด็กๆมีอารมณ์แจ่มใส และมีจิตใจที่เบิกบาน
3. ดนตรีช่วยพัฒนาทางด้านสังคม
– กิจกรรมดนตรีแบบกลุ่ม คือการที่เด็กๆได้ทำกิจกรรมดนตรีร่วมกับผู้อื่น เช่น การร้องเพลง เต้นระบำ รำละคร หรือ การตั้งวงดนตรี เล่นกับเพื่อนๆที่โรงเรียน เป็นการช่วยส่งเสริมให้เด็กๆได้ รู้จักการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น
– กิจกรรมดนตรีแบบเดี่ยว เช่น การเล่นดนตรี การร้องเพลง หรือการเต้นระบำรำฟ้อนคนเดียวต่อหน้าคนอื่น ช่วย พัฒนาบุคลิกภาพและสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้แก่เด็ก ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เด็กได้แสดงความสามารถ ให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง ( self-esteem) และตระหนักถึงคุณค่า ของตัวเอง ( Ego Asset)
4. ดนตรีช่วยพัฒนาทางด้านสติปัญญา
– ดนตรีช่วยพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ เช่นเมื่อเด็กได้ฟังหรือร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของจำนวน และ การนับ หรือการที่เด็กได้หัดอ่านโน้ตดนตรี
– ดนตรีช่วยพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่นเมื่อเด็กได้ร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติจากเนื้อเพลงที่ เกี่ยวกับสัตว์ ต้นไม้ รุ้งกินน้ำ พระจันทร์ ดวงดาว
– ดนตรีช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษา เช่น เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศผ่านทาง เนื้อเพลง
– ดนตรีช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เช่นเมื่อเด็กๆฟังเพลงแล้วคิดท่าเต้นแบบต่างๆได้ด้วยตนเอง หรือแปลงกาย เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ การที่เด็กได้คิดค้นวิธีเล่นเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ หรือการที่เด็กแต่งเนื้อเพลงหรือทำนองเพลง ด้วยตัวของเขาเอง
ดังนั้นการสร้างความตระหนักแก่นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นมาก ที่จะทำให้นักศึกษาได้เกิดการตื่นตัว และตระหนักถึงโทษที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปรับทัศนคติด การลด ละ เลิก ไปจนถึงการเป็นผู้นำ หรือเป็นต้นแบบในการรณรงค์ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักศึกษา ทั้งในช่วงเวลาทั่วไป และช่วงเทศกาลสอบของนักศึกษาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย