มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มีนโยบายและส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานหลักในหลายด้าน อาทิ การสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่มีความเดือดร้อนทางการเงิน ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งนักศึกษาชาวไทยและต่างชาติ ให้นักศึกษามีความพร้อมในการศึกษาเล่าเรียน ลดความวิตกกังวลของนักศึกษาด้านค่าใช้จ่ายในการศึกษา รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้มีความสามารถโดดเด่นในด้านต่างๆ ทุนการศึกษา. สำหรับนักศึกษาสู้ชีวิตแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุนผู้ประสบอุบัติภัย เป็นต้น
นอกจากกลุ่มนักศึกษาในระบบแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มคนพิการ มรพส. จัดให้มีโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานเพื่อเข้าทำงานในสถานประกอบการ ที่ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา เปิดโอกาสให้นักเรียน ในถิ่นทุรกันดาร ได้ฝึกทักษะที่เหมาะสมนำไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ การติดตามและคอยส่งเสริมให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเล็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ชายขอบชายแดน (จ. ตาก) และเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าถึงการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน ผลักดันให้เกิดเป็นวิสาหกิจในจังหวัด พื้นที่บริการ (พิษณุโลก สุโขทัย) ทั้งนี้ยังพัฒนาการเรียนรู้ในทุกช่วงวัยตามเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้ของ มรพส. และมุ่งขจัดความยากจนทกุรูปแบบในทุกพื้นที่ เน้นการบูรณาการงานวิจัยและการบริการวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน โดยมี นโยบายด้านการลดความยากจน (No Poverty) ดังนี้
1. ให้การสนับสนุนช่วยเหลือสังคมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้หลุดพ้นความยากจนในทุกมิติ
2. ให้บริการวิชาการแก่สังคม สร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ในพื้นที่
3. สร้างความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาและมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการอยู่ 2 จังหวัด คือ พิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากำลังคนและสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนยากจนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้านให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้นให้มีฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามนโยบายการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มีบทบาทอย่างมากในการลดความยากจนและแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยระดมพละกำลังบุคลากร และนักศึกษาจาก 8 คณะ ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคม เพื่อช่วยยกเศรษฐกิจฐานรากอย่างมั่นคงและยั่งยืน